บันทึกประสบการณ์การไปพรีเซนท์โครงงานที่ประเทศญี่ปุ่น 🇯🇵

ChampInMyThought
3 min readFeb 22, 2023

--

โอเค สวัสดีทุกคน ~

วันนี้เราก็ตามชื่อหัวข้อเลยนะ เราจะมาบันทึกและเล่าความประทับใจในโอกาสที่เราได้ไปพรีเซนท์โครงงานวิทยาศาสตร์แบบ on-site ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นตัวแทนของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ในงาน Japan Super Science Fair 2022 นั่นเอง

// จริง ๆ โพสต์นี้เหมือนมาย้อนคืนความทรงจำเลยตัวเองเลยอ่ะ ถถถถถถ เพราะเขียนย้อนหลังแอบนานพอสมควร เกือบจะจำไม่ได้ละ

— ภาพรวมกลุ่ม Japan Super Science Fair 2022 คนเยอะมากกกก —

☁️ ภาพรวมของงาน

Japan Super Science Fair 2022 มีผู้เข้าร่วมมาจาก 35 โรงเรียน รวมทั้งหมด 18 ประเทศ แล้วต้องบอกก่อนเลยว่าเป็นการจัดงานครั้งที่ 19 แล้วของ Ritsumeikan High School แน่นอนว่าต้องมืออาชีพสุด ๆ

(0) — วันที่ 0 Prelude 🛩️

ต้องบอกก่อนเลยว่าจริง ๆ แล้วเราพรีเซนท์มาหลายครั้งแล้วแต่ด้วยสถานการณ์ของ COVID-19 ทำให้การจัดงานเป็นออนไลน์ไปสะหมดเลย นี่ก็เลยจะเป็นครั้งแรกจริง ๆ ที่เราได้พรีเซนท์แบบ on-site สักที

ตั้งแต่เครื่องบินขึ้นจากประเทศไทย เรารับรู้ได้ทันทีเลยว่าความรู้สึกของการแข่ง online vs on-site มันแตกต่างจนไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้จริง ๆ การได้ออกเดินทางทั้งเปิดประสบการณ์และให้ความรู้สึกกดดันอย่างที่หาที่ไหนไม่ได้

- ตารางกิจกรรมยาวทั้ง 5 วันเลย เรียกว่ากิจกรรมแน่นมาก ๆ -

จะเห็นได้ว่ากิจกรรมหลัก ๆ จะแบ่งเป็น

  • (1) — Project Presentation 🎤
  • (2) — Poster Presentation 📝
  • (3) — Science Activities 🔭
  • (4) — Field Trip 🚌
  • (5) — Cultural Performance 🎬

ก่อนไปดูที่กิจกรรมต่าง ๆ กลับมาดูหลังจากลงเครื่องกันก่อน

ตั้งแต่ลงที่สนามบินและขึ้นรถบัสเปลี่ยนสนามบินหรือเดินซื้อของในเมืองทั้งหมดช่างดูเรียบง่าย สะดวกสบายและปลอดภัย นอกเหนือจากนั้นทุกมุมของเมืองรับก็แทบจะตะโกีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมออกมาในทุกย่างก้าวจริง ๆ

ในส่วนของที่พักเราได้พักที่ Tavinos Hotel Kyoto ซึ่งพอไปแอบส่องโรงแรมผ่านทางเว็บไซต์ก็คือว้าวระดับนึง เพราะตกแต่งสวยมาก โดยเขาจะให้นอนแบบจับคู่กัน 2 คนกับเพื่อนในโรงเรียนเดียวกันซึ่งเขาทำการจัดการรายชื่อมาให้แล้วหมดเรียบร้อย

-> https://hoteltavinos.com/en/kyoto/

- ห้องจริงก็คือแต่งแบบนี้เลย -

(1) — วันแรก Project Presentation 🎤

ตั้งแต่วันแรก เขาก็พาเราเดินจากโรงแรมไปขึ้นรถไฟฟ้าจนถึงโรงเรียนต้องยอมรับว่าที่นี่ขยันเดินกันสุด ๆ ระยะการเดิน 15 นาทีน่าจะเป็นเรื่องปกติสำหรับเขา

พอมาถึงโรงเรียนปึ๊บก็มีได้เจอกับ Buddy ทั้ง 3 คนจากโรงเรียน Ritsumeikan คอยต้อนรับ คุยกันเล็กน้อย เราก็เข้าไปพิธีเปิดงานโดยมีทั้งวงดนตรี และการแสดงวัฒนธรรม แล้วก็การกล่าวเปิดพิธีกับเลคเชอร์เล็ก ๆ ก็จะมีธีมของความสำคัญของวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหาของโลกในปัจจุบัน รวมถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ และความตั้งใจในการสร้างเครือข่ายของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์

เสร็จแล้วไม่ต้องรีรอก็เริ่มลงมือพรีเซนท์งานวิจัยตั้งแต่เย็นวันนั้นเลย โดยจะเป็น Presentation 15 minutes และ Q&A 10 minutes การพรีเซนท์โครงงานจะแบ่งเป็นห้อง ๆ ตามวิชากันไป เราก็ประจำอยู่ห้องชีววิทยาเป็นหลักแต่ก็มีเวียน ๆ สลับ ๆ ไป

ต้องบอกว่า Science Fair งานนี้ไม่ได้เน้นการแข่งขันงานวิจัยที่เข้มข้นเลย แล้วก็ไม่ได้มีรางวัลให้สำหรับงานวิจัยต่าง ๆ ด้วย เพราะฉนั้นกรรมการก็ดูใจดี บรรยากาศโดยรวมทั้งหมดก็รู้สึกสบาย ๆ แต่กิจกรรมนี้ก็ยังถือว่าเป็นไฮไลท์และส่วนหลักของงาน Science Fair อยู่ดี เพราะการได้ฟังโครงงานจากนานาชาติก็น่าสนุกไม่ใช่น้อย

(2) — Science Activities

Science activities คงเป็นเอกลักษณ์ที่ขาดไม่ได้ของ Science Fair เพราะนี่เป็นส่วนสำคัญเลยที่จะทำให้เราได้รู้จักและทำงานร่วมกันระหว่างเพื่อนนานาชาติ ทั้งหมด 5 วันนี้ก็เลยมี Science activities สอดแทรกอยู่เกือบทุกวันเลย แล้วก็ต้องเป็นพาร์ทที่ชื่นชมมาก ๆ เลย เพราะทุกกิจกรรมที่เลือกมาให้เล่น ทั้งท้าทาย สนุกและดูดพลังงานมาก ๆ จริง ๆ เป็นส่วนสำคัญที่เติมเต็มพลังงานให้ Science Fair และหลายครั้งในงานอื่น ๆ ก็แอบจืด ๆ ทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ เรียกได้ว่าควรดูที่นี่เอาเป็นแบบอย่างเลย

(3) — Poster Presentation

พอมาถึงวันที่ 3 ก็จะมีการพรีเซนท์โปสเตอร์งานวิจัย บรรยากาศภายในงานดูครึกครื้นมาก เราเองก็ได้มีโอกาสนำเสนองานวิจัย ซึ่งทำเกี่ยวข้องกับทางด้าน Machine Learning ซึ่งก็ถือว่าแตกต่างและใหม่มาก เอาจริง ๆ แล้วภายในงานก็แทบไม่มีงานสายคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว แต่นั่นก็ทำให้มีหลายคนสนใจงานของเรามาก ๆ เช่นกัน เราก็เลยมีโอกาสให้ Introduction แบบ 101 ตั้งแต่พื้นฐานในด้านนี้ไปด้วยเลย ให้เล่างานวิจัยของตัวเองกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ

— ถ่ายรูปมุมสูงแล้วบรรยากาศดูเท่มาก —

หลังจากการพรีเซนท์งานวิจัยของตัวเอง แต่ละประเทศก็จะได้โอกาสจัดซุ้มในการโชว์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ กำเนิดวิทย์ของเราก็จัดเหมือนกันโดยมีให้ทดลองเขียนชื่อตัวเองเป็นภาษาไทย แล้วก็มีขนมของกินจากบ้านเราไปให้ลองด้วย

(4) — Field Trip

นี่คือวันแห่งการเที่ยวอย่างเป็นทางการ ช่วงเช้าเริ่มจากการพาไป Industrial Tour หรือการดูงานในโรงงานหรือมหาลัย ที่ ๆ ผมเลือกไปคือ Yushin Precision Equipment Co., Ltd. ซึ่งเป็นโรงงานที่ผลิตชิ้นส่งต่าง ๆ ทางอุตสาหกรรม ส่วนสถานที่อื่น ๆ ที่เลือกได้ก็มีหลากหลาย และน่าสนใจไม่แพ้กันเลย

  • Civil Engineering ของมหาลัย Kyoto University
  • University Farm ฟาร์มของมหาวิทยาลัย Kyoto Prefectural University
  • College of Science and Engineering, College of Sport and Health Science, SR (Synchrotron Radiation) Center ที่มหาวิทยาลัย Ritsumeikan
— Yushin Precision Equipment Co., Ltd. |โรงงานผลิตชิ้นส่วนทางอุตสาหกรรม —

ก่อนที่เราทุกคนจะมารวมตัวกันที่ Fushimi Inari Shrine ศาลเจ้าที่คุ้นเคยตาหากเราเคยเห็นเสา Tori กันมาก่อน (เสาสีแดงลักษณะตั้งขึ้นมาเป็นประตู) เอกลักษณ์ของศาลเจ้าเมื่อเปรียบเทียบกับวัดของไทยเลยก็คือความเชื่อ เพราะว่าศาลเจ้าจะเน้นการนับถือสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ อย่างที่นี่ก็คือสุนัขจิ้งจอกนั่นเอง

— สุนัขจิ้งจอกจะคาบรวงข้าวอยู่ภายในปากด้วยแหละ —

แต่ถ้าว่ากันนอกจากความเชื่อเรื่องธรรมชาติ เรื่องการไหว้ การบริจาค การเสี่ยงดวง หรือเครื่องลางก็ยังเป็นจุดที่คล้ายคลึงกับที่ไทยมาก แต่ด้วยที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็ต้องบอกว่าออกแบบมารับมือให้นักท่องเที่ยวเสียเงินเป็นอย่างดี ขายแต้มบุญและโชคลางกันแบบสุด ๆ

(5) — วันที่ 5 ( Cultural Performance )

วันนี้ก็เป็นวันสุดท้ายก็จะไม่ได้มีอะไรมาก ข้ามไปช่วงไฮไลท์ของวันก็คือโชว์วัฒนธรรมทั้งร้อง เล่น เต้น รำของแต่ละประเทศ ทีมกำเนิดวิทย์เราก็หาทำอีกแล้วเช่นเคย ยกไปทั้งหมดตั้งแต่ รำมวย มวยไทย รำวงมาตรฐาน ที่สักซ้อมกันมาแต่ละคืน

ในช่วงสุดท้าย ทุกโรงเรียนได้โอกาสกล่าวความประทับใจและย้ำชัดในวิสัยทัศน์และความตั้งใจของงาน Sciene Fair นี้ตามสโลแกน

Rekindle the fire! Light up our future!

— ดูยิ่งใหญ่อีกแล้ว ตรงกลางคือประธานนักเรียนของ Ritsumeikan —

ความประทับใจ 💖

  • ความรู้สึกแรกทันทีที่มาถึงญี่ปุ่น คือทำไมประเทศมันสวยได้ขนาดนี้นะ 0–0
  • นี่เป็นประสบการ์การไปต่างประเทศครั้งที่สอง ต่อจากการไปสหรัฐอเมริกากับทุนสถานทูตในครั้งแรก ถือว่าได้เห็นการเปรียบเทียบระหว่างหลายประเทศเลย
  • การได้เห็นความก้าวหน้าทั้งทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นทั้งแรงบันดาลใจและแรกผลักดันให้เราไม่น้อยเลย
  • การได้รู้จักและพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนแต่ละคนที่นั่น ที่มีความชอบในด้านวิทยาศาสตร์มากเหมือน ๆ กัน
  • ส่วนตัวคิดว่าในฐานะเด็กแข่งขันสายโอลิมปิกและนักเรียนของกำเนิดวิทย์ เราทุกคนก็จะถูกปลูกฝังเรื่องความก้าวหน้าทางวิทยาศาตร์กับการพัฒนาประเทศกันอยู่แล้ว แต่การพูดคุยสอบถามเพื่อนจากหลายชาติใน community ที่น่าจะเรียกได้ว่ารักวิทยาศาสตร์แน่ ๆ ก็ทำให้เราเห็นความแตกต่างเหมือนกัน

ในท้ายที่สุด แน่นอนว่าหลายคนน่าจะนึกไม่ถึง หรือไม่เคยเห็นภาพเลยว่างานแบบนี้อยู่เลย หรือถึงแม้รู้ทุกคนก็ไม่ได้มีโอกาสจะเข้าไป ก็เลยแอบยากเหมือนกันว่าจะสรุปอะไรได้ สิ่งที่พอจะสรุปได้คือ นี่คงเป็นตัวอย่างที่เราได้เห็นผ่านตาของตัวเองของการสร้างพื้นที่ และการส่งเสริม รวมกลุ่มคนที่มีความสนใจเดียวกันมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งเราว่ามันดีมาก ๆ จริงนะ จบ ^^

--

--

ChampInMyThought

A medical student who lacks sleep and time to rest and wishes he had more time to enjoy writing | Bangkok, Thailand